อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ในวันที่ 14 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ตั้งอยู่เลขที่ 14/16 ถนนราชดำเนิน บริเวณสี่แยกคอกวัว สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2544
สถานที่จัดสร้างอนุสรณ์สถาน เช่ามาจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ภายในอนุสรณ์สถานมีพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด สำนักงาน ห้องประชุม ลานกิจกรรม สวนสาธารณะ และประติมากรรมต่าง ๆ
หนึ่งในประติมากรรมที่เด่นเป็นเอกลักษณ์ คือ สถูปวีรชน 14 ตุลา เป็นรูปกรวยคว่ำ สูง 14 เมตร จารึกรายชื่อผู้เสียชีวิตทั้งหมด 72 คนและบทกวีของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ รูปกรวยคว่าเป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณการมนุษย์ ส่วนปลายยอดกรวยที่ดูเหมือนยังสร้างไม่เสร็จแทนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สิทธิ และเสรีภาพที่ยังต้องดำเนินต่อไป
การก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีประวัติอันยาวนาน เริ่มตั้งแต่มีการเสนอให้มีการสร้างอนุสาวรีย์สำหรับผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14-16 ตุลาคม 2516 ผ่านคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์เมื่อ พ.ศ. 2517 แต่กว่าที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาจะปรากฏเป็นรูปธรรมดังที่เห็น หนทางก็เต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2544 อนุสรณ์สถานแห่งนี้จึงจะสามารถสร้างได้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ก็ด้วยแรงผลักดันอย่างต่อเนื่องจากขบวนการนิสิตนักศึกษา อดีตนักศึกษาในสมัย 14 ตุลา นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนผู้รักประชาธิปไตย
งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้มาจากเงินบริจาคของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และในโอกาสครบรอบ 28 ปี 14 ตุลา รวมกับเงินบริจาคของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กรุงเทพมหานคร และทบวงมหาวิทยาลัย โดยมีมูลนิธิ 14 ตุลา เป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการจัดสร้าง และร่วมดำเนินกิจการของอนุสรณ์สถานฯ ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า